การเยียวยาเด็กน้อยในตัว Inner Child ตอนที่ 2

เราอยากแจ้งให้ทราบว่าแบบฝึกหัดนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อใช้เพื่อทดแทนการบำบัด โปรแกรม หรือกลุ่มบำบัดเยียวยาเด็กน้อยในตัวหรือการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ถ้าคุณถูกกระทางเพศในวัยเด็ก ถูกกระทำรุนแรงทางด้านอารมณ์ หรือป่วยทางจิต การพบนักบำบัดมืออาชีพถือเป็นสิ่งสำคัญ บทความนี้ถือเป็นส่วนเสริมเท่านั้น และท้ายที่สุดถ้าคุณสัมผัสถึงอารมณ์แบบแปลกๆ หรือรู้สึกท่วมทันไปด้วยอารมณ์ในขณะที่ทำแบบฝึกหัดด้านล่าง โปรดหยุดทำทันที โปรดมองหาที่ปรึกษามืออาชีพก่อนดำเนินการใดๆ

จำไว้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา แบบฝึกหัดด้านล่างไม่ใช้การแก้ปัญหาแบบทันควัน มันไม่ใช่ไม้คฑาที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแบบฉับพลัน แต่มันจะเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่คุณต้องการ เพื่อทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย มั่นคง และได้รับการปกป้องในระดับลึก หวังว่าคุณจะค้นพบบางอย่างที่เติมเต็มคุณ และพบความสัมพันธ์ที่คุณมีกับเด็กน้อยในตัว

1. ไตร่ตรองถึงไทม์ไลน์ในวัยเด็กของคุณ

นำกระดาษมา 1 แผ่น แบ่งวัยเด็กของคุณเป็นส่วนๆ ดังนี้ : ทารก (0-9 เดือน) วัยเด็ก (9 เดือน ถึง 3 ปี), ก่อนเข้าโรงเรียน (3-6 ปี), และวัยเรียน (6 ปีถึงวัยรุ่น)

ในแต่ละช่วงอายุ ลองนึกดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร? ชีวิตเป็นอย่างไร? คุณรู้สึกถึงความปลอดภัยไหม? ได้รับการสนับสนุน ได้รับการยอมรับแค่ไหน?  โปรดจำไว้ว่าการรู้สึกปลอดภัยในวัยเด็กไม่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของครอบครัวเสมอไป ส่วนมากเราใช้เวลาไปกับโรงเรียนและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในการสร้างเด็กน้อยในตัว

บันทึกความทรงจำหรือลักษณะทางกายภาพที่คุณสัมผัสได้ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ประติดประต่อก็ตาม บันทึกโทนเสียง ประโยคแสดงอารมณ์ คำพูดที่พ่อแม่และครูใช้เมื่อพูดคุยกับคุณ แม้ว่าความทรงจำจะดูโง่เง่า หรือการตอบสนองที่คุณจำได้จะดูโอเวอร์ก็โปรดเขียนมันลงไป ในฐานะผู้ใหญ่ ต้องให้เกียรติสิ่งที่เด็กน้อยในตัวได้สัมผัสมา ถึงแม้ว่ามันจะดูเลอะเทอะหรือเกินจริงในสายตาผู้ใหญ่

ยิ่งคุณมีข้อมูลและอารมณ์ร่วมในช่วงอายุใดมาก คุณจะต้องยิ่งโฟกัสที่จะเชื่อมต่อในช่วงอายุนั้นมากขึ้นไปอีก เดี๋ยวเราจะบอกคุณว่าต้องทำอย่างไร

2. เขียนจดหมายถึงเด็กน้อยในตัว

จินตนาการว่าคุณเป็นนางฟ้าที่แสนเฉลียวฉลาด อ่อนโยน และเปี่ยมไปด้วยความรัก และต้องการรับเลี้ยงเด็กน้อยในตัวของคุณ ในขณะที่คุณเขียนจดหมาย จงบอกเด็กน้อยในตัวว่าคุณรักเขามากแค่ไหนและอยากจะใช้เวลาอยู่กับเขา จงเขียนให้คุณรู้สึกถึงความปลอดภัย ได้รับการเอาใจใส่ ได้รับความเข้าใจ

นี่คือตัวอย่าง

ถึงแอลลี่ตัวน้อย,

ฉันมีความสุขมากที่เธอมาเกิด ฉันอยู่ที่นี่เพื่อมาปกป้อง รัก และใส่ใจเธอ ฉันอยากจะช่วยให้เธอรู้สึกถึงความรักและการยอมรับในแบบที่เธอเป็น ฉันต้องการแสดงให้เธอรู้ว่ามันปลอดภัยที่เธอจะได้รับการรับฟัง รับการสัมผัส และอยู่ในสายตา ฉันอยากให้เธอรู้สึกว่าเธอมีบ้านอยู่กับฉัน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ฉันจะช่วยเหลือและแนะแนวทางแก่เธอในทุกๆ ก้าว ฉันรักเธอมากนะ

 ด้วยรัก, นางฟ้าอาลีเทีย

ถ้าคุณรู้สึกอ่อนไหวในกระบวนการนี้ จงร้องไห้ปลดปล่อยออกมา และจงภูมิใจในความกล้าหาญที่คุณแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริง

3. เขียนจดหมายจากมุมมองของเด็กน้อยในตัว

ใช้มือข้างที่คุณไม่ถนัด เขียนจดหมายถึงตัวคุณเองจากมุมมองของเด็กน้อยในตัว การใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจะทำให้คุณเข้าถึงความรู้สึกของเด็กน้อยในตัวได้ดีขึ้น ตัวอย่าง

ถึงคุณแม่อุปถัมภ์,

หนูอยากรู้สึกถึงคำว่าบ้าน ได้โปรดปกป้องหนู หนูไม่อยากรู้สึกเปลี่ยวเหงาแบบนี้อีกแล้ว

ด้วยรัก, แอลลี่

คุณสามารถเขียนตอบกลับไปมา ระหว่างนางฟ้าและเด็กน้อยในตัว การสร้างบทสนทนานี้สามารถเปิดเผยถึงอารมณ์ที่น่าเซอร์ไพรส์และอารมณ์ที่ถูกฝังมานาน รวมถึงข้อมูลใหม่ๆ

4. แชร์ความเจ็บปวดกับคนที่คุณไว้ใจ

ความเจ็บปวดที่คุณได้เผชิญมาในวัยเด็กสมควรได้รับการให้คุณค่าหรือได้รับการฟังจากใครสักคนไม่ว่าคุณจะมองหาเพื่อนที่ใส่ใจคุณ กลุ่มสนับสนุน หรือนักบำบัดที่ไว้ใจได้ พึงระลึกว่าการแชร์ความรู้สึกถือเป็นเรื่องสำคัญในการเยียวยาเด็กน้อยในตัว คุณสามารถทำด้วยตัวเองคนเดียวก็ได้ แต่การที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยิ่งยวดหรือการเยียวยาที่ลึกซึ้ง การแชร์ความรู้สึกมีความสำคัญอย่างมาก เราเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการให้บุคคลอื่นสร้าง “พื้นที่การรับฟัง” ให้กับเรา ความเจ็บปวดของคุณควรได้รับการรับฟังอย่างเห็นใจ ถ้าบุคคลที่คุณแชร์เรื่องราวเพื่อการเยียวยาเด็กน้อยในตัวตั้งคำถาม โต้เถียง หรือพยายามให้คำแนะนำกับคุณ คุณเลือกคนผิดแล้วนะ

คุณจำเป็นต้องหาผู้สนับสนุนที่อ่อนโยนและโอบเอื้อ ถ้าคุณไม่มีเพื่อนที่มีวุฒิภาวะหรือมีความสามารถในการทำสิ่งนี้ โปรดพิจารณาที่จะเข้าพบนักบำบัดหรือผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณ ซึ่งมีให้เลือกมากมายในราคาที่คุณจ่ายได้ การลงทุนเพื่อสุขภาพกายและจิตเป็นเรื่องที่คุ้มค่า มีนักบำบัดมืออาชีพมากมายที่เชี่ยวชาญเรื่องการเยียวยาเด็กน้อยในตัวหรือจัดเวิร์คช็อป

ที่ปรึกษาและนักเขียนเพื่อการพัฒนาตนเอง จอห์น แบรดชอว์ เขียนไว่ว่า “ผมเชื่อว่าการบำบัดแบบกลุ่มเป็นการบำบัดที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง”เมื่อเขาพูดถึงการเยียวยาเด็กน้อยในตัว

แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าแชร์กับสมาชิกในครอบครัว ถึงแม้ว่าเขาจะอ่อนโยนกับเราก็ตาม สมาชิกในครอบครัวที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเด็กน้อยในตัวจะไม่สามารถเผชิญหน้ากับเด็กน้อยในตัวของคุณได้ ความรู้สึกระคายใจ ความโกรธ การกล่าวโทษ และความเศร้าโศกอาจเกิดขึ้นได้ถ้าคุณแชร์ความรู้สึกต่อสมาชิกในครอบครัว ฉะนั้นโปรดอย่าทำ

การแชร์ความรู้สึกอาศัยความกล้าและความเข้มแข็งภายใน ความรู้สึกกลัวนั้นถือเป็นเรื่องปกติ จงรับรู้ถึงความกลัวนั้น แล้วถ้าคุณพร้อมเมื่อไหร่ จงแชร์ความรู้สึกของคุณไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

5. การปฏิญาณตนเชิงบวก (Positive Affirmations)

การปฏิญาณตนเชิงบวกเป็นสิ่งที่มีพลังอย่างมากที่จะยืนยันความมีคุณค่าของคุณ และสนับสนุนให้คุณมีความรู้สึกปลอดภัย เมื่อทำซ้ำไปซ้ำมา การปฏิญาณตนจะสร้างเส้นทางใหม่ในสมองและหยั่งลงสู่จิตไร้สำนึก เมื่อปฏิญาณตนซ้ำไปซ้ำมาจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและได้รับการเยียวยาถึงรากฐาน

นี่คือการปฏิญาณตนที่เต็มไปด้วยความรักและการโอบอุ้มที่คุณใช้มันได้ตลอดเวลา รวมถึงเวลาการทำสมาธิด้วย

  • ฉันจะอยู่ที่นี่เสมอและจะสนับสนุนเธอตลอดไป
  • ยินดีต้อนรับสู่โลกใหม่ ฉันรอที่จะกอดเธอมานานแล้ว
  • ฉันรักเธอในแบบที่เธอเป็น
  • ฉันดีใจที่เธออยู่ที่นี่
  • ฉันอยากจะดูแลเธอ
  • ฉันอยากได้ยินความคิดและความรู้สึกของเธอ
  • ไม่เป็นไรนะที่จะรู้สึกเศ้ราหรือกลัว
  • จงเป็นตัวของตัวเอง
  • จงพูดคำว่า “ไม่”
  • เธอเป็นคนพิเศษสำหรับฉัน
  • เธอมีสิ่งต่างๆ ให้โลกนี้มากมาย
  • ฉันเชื่อมั่นในตัวเธอ
  • ฉันจะปกป้องเธอจากภยันตราย

คุณสามารถปฏิญาณตนกี่ครั้งก็ได้เท่าที่คุณต้องการในระหว่างวัน หรือบางทีคุณอาจจะดัดเสียงเพื่อพูดประโยคเหล่านี้ เช่น เสียงของคนแก่ผู้ทรงภูมิ หรือเสียงของแม่ที่เต็มไปด้วยความรัก

จงสร้างคำปฏิญาณตนของตนเองขึ้นมา เอาข้อความข้างบนเป็นตัวอย่าง โดยทั่วไปคำปฏิญาณที่มีพละกำลังมันจะมาจากความต้องการที่ลึกที่สุดของคุณ

6. ทำสมาธิและจินตภาพเด็กน้อยในตัว

สละเวลาสักครึ่งชั่วโมงสำหรับแบบฝึกหัดนี้ หาพื้นที่เงียบๆ และสบายๆ นั่งหรือนอนหงายก็ได้

จินตนาการว่าคุณกำลังจะได้เจอเด็กน้อยในตัว คุณเดินออกไปที่สวนหลังบ้านและเด็กน้อยกำลังเล่นอยู่ในกล่องทราย เด็กคนนี้มีอายุเท่าไหร่กันนะ? คุณเดินเข้าไปหาเด็กคนนี้และนั่งลง

“สวัสดี” คุณพูดทักทายและแนะนำตัว มองลึกลงไปในแววตาของเด็กน้อยในตัว เขารู้สึกอย่างไรกับคุณ อยากรู้อยากเห็น? ตั่วสั่นด้วยความกลัว? อาย? ระแวง? หรือรู้สึกตื่นเต้น? จงให้ความเคารพในตัวเด็กน้อยและเคารพสิทธิของเขา ถ้าเขาอยากกอดคุณหรือจับมือทักทาย จงทำตามนั้น

ลองตั้งคำถามสิว่า “หนูต้องการอะไรมากที่สุดจ๊ะ” ถ้าคุณกำลังคุยกับเด็กทารกในระหว่างการจินตภาพนี้  คำตอบที่ได้อาจเป็นเพียงความรู้สึกทางสัญชาติญาณ  ไม่เหมือนกับการตอบโต้กับตัวคุณในวัยเรียนที่เขาอาจตอบกลับมาเป็นถ้อยคำ

ถ้าเด็กน้อยในตัวคุณบอกว่าเขาอยากได้อะไร จงหยิบยื่นให้กับเขาในพื้นที่ปลอดภัยนี้ ให้เขารู้สึกว่าตนเองได้รับการรับฟัง ได้รับการมองเห็น ได้รับความเข้าใจ และได้รับความรักจากคุณ ลองบอกเขาว่าคุณรักเขาและแคร์เขามากเพียงใดและปราถนาให้เขาได้รับการดูแล ถ้าเด็กน้อยในตัวอยากให้คุณอุ้ม กอด จงอย่าปล่อยให้โอกาสนี้หลุดไป

เมื่อคุณรู้สึกว่าภาระกิจการเชื่อมต่อกับเด็กน้อยในตัวได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ให้จินตนาการว่าคุณเดินกลับเข้ามาในบ้าน โฟกัสที่ลมหายใจ ยืดตัวขึ้น แล้วลืมตา

ขอแนะนำให้คุณจดบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในสมาธิ การจดบันทึกเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมของการตรึกตรอง ทำให้การเข้าใจตนเองลึกซึ้งขึ้น และยังเป็นตัวจดบันทึกความก้าวหน้า ลองใช้เวลาสักสองสามนาทีในการจดบันทึก

7. จงเป็นผู้ปกป้องและเลี้ยงดูฟูมฟักตัวเอง

ในฐานะผู้ใหญ่ การรับผิดชอบต่ออารมณ์ของตนเองเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การรู้สึกถึงความปลอดภัยบนโลกใบนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากและเป็นหัวใจของการเติบโตของเด็กน้อยในตัว สัญญาณเตือนว่าคุณรู้สึกไม่ปลอดภัยบนโลกใบนี้ มีดังต่อไปนี้

  • มีความวิตกกังวลเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คน
  • มีแนวโน้มว่ามีความวิตกกังวลจนเกินพอดี
  • ไม่สามารถเชื่อใจคนอื่นได้
  • ไม่สามารถเชื่อถือตนเองและความสามารถของตนเองได้
  • รู้สึกกลัวเมื่อต้องทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
  • วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรง
  • กลัวที่จะต้องลองสิ่งใหม่หรือไปในสถานที่ใหม่ๆ
  • ชอบคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายในสถานการณ์ต่างๆ
  • มองข้ามความต้องการของตัวเอง
  • ไม่มีพื้นที่ในใจสำหรับตัวเอง
  • เอาคนอื่นมาเหนือตนเองเสมอ
  • เปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

ในขณะที่พ่อแม่และผู้ปกครองอาจจะไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของเราได้ ความจริงที่สวยงามก็คือเราสามารถเติมเต็มตัวเราเองได้ ซึ่งเป็นคอนเสปต์ที่ฟังดูแปลก แต่เราสามารถเป็นพ่อแม่ให้กับตัวเราเองได้จริงๆ

ประโยชน์ของการกลับมาเป็นพ่อแม่ของตัวเอง

  • ความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าและการมองโลกในแง่ดี
  • ความคิดสร้างสรรค์ได้รับการพัฒนา
  • สุขภาพกาย จิต และจิตวิญญาณดีขึ้น
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเดิม
  • ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ เช่น การยอมรับ การให้อภัย การยอมให้ตนเองอ่อนแอ ความเมตตา การรักตนเอง

ถ้าคุณพบว่าการเป็นพ่อแม่ของเด็กน้อยในตัวช่างเป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน โปรดมองหาความช่วยเหลือจากนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเรื่องการเยียวยาเด็กน้อยในตัวซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ดี นักบำบัดจะทำหน้าที่เป็นผู้แทนพ่อและแม่ พวกเขาจะรับฟังและให้คำแนะนำเด็กน้อยในตัว ในขณะที่สนับสนุนและทำให้พ่อแม่ภายในของเราเข้มแข็งขึ้น

ถ้าคุณอยากจะไปบำบัดคนเดียวก็ย่อมเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม โปรดมองหากลุ่มสนับสนุนช่วยเหลือถ้าคุณสามารถหาได้ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือในชีวิตจริง

ในการที่จะเป็นผู้คอยปกป้องและเลี้ยงดูฟูมฟักนั้น คุณจะต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าสิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำกับตัวเอง โฟกัสการรักตัวเองและการยอมรับ (Acceptance) ในทุกๆ วัน ฟังเสียงเรียกร้องจากจิต หัวใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ ฝึกการดูแลตนเอง ให้เวลากับตัวเอง ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รู้จักพูดคำว่าไม่และปกป้องตนเอง เรียกร้องให้ตนเองมีอำนาจในชีวิตตนเอง ลองสำรวจแบบฝึกหัดต่างๆ ที่ช่วยเรื่องการสนับสนุนให้รู้สึกปลอดภัย

บทสรุป

แม้ว่าเราจะทรมานจากความโชคร้ายในวัยเด็ก แต่มันไม่สายไปหรอกนะที่จะรื้อฟื้นวัยเด็กขึ้นมาใหม่และเชื่อมต่อกับด้านที่เหมือนเด็กของเรา เมื่อเราคิดว่าเราต้องรับผิดชอบความสุขในชีวิตของเรา เราจะมีอำนาจที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย เยียวยาตนเอง และสร้างตัวตนที่สมบูรณ์แบบ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครมาพรากไปจากเราได้

ขอขอบคุณ <https://lonerwolf.com/feeling-safe-inner-child/>

One thought on “การเยียวยาเด็กน้อยในตัว Inner Child ตอนที่ 2

Add yours

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Website Powered by WordPress.com.

Up ↑